• Travel,  Visa

    การขอวีซ่าไอร์แลนด์ (Ireland Visa Application)

    โดยปกติแล้วคนไทยมักแวะไปเที่ยวไอร์แลนด์จากอังกฤษหรือไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งจะได้รับยกเว้นไม่ต้องขอวีซ่าไอร์แลนด์ถ้ามีวีซ่าอังกฤษแบบมัลติเพิล แต่ถ้าหากเดินทางมาถึงไอร์แลนด์โดยตรง เช่น บินลงดับบลินหรือแชนนอน โดยไม่ผ่านอังกฤษจะต้องขอวีซ่าไอร์แลนด์เท่านั้น รายละเอียดการขอวีซ่าให้ดูเอกสารแนบด้านล่าง ทั้งนี้มีข้อควรระวังดังนี้ เอกสารที่เป็นภาษาไทยต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยสำนักแปลเท่านั้น แปลเองไม่ได้ ทั้งนี้ไม่ต้องเอาไปรับรองที่กรมการกงสุล เอกสารการเงิน ต้องใช้สเตทเมนต์ย้อนหลัง 6 เดือน (ไม่ใช่รับรองเงินฝากที่ออกมาโดยระบุยอดสุดท้ายยอดเดียว) พร้อมที่อยู่ ภาษาอังกฤษ จากธนาคารเท่านั้น ใช้สำเนาบุ๊คแบงค์ ปริ้นจากอินเตอร์เน็ตแบงค์ไม่ได้ เดินทางด้วยกัน ฝากไปยื่นแทนได้ แต่เอกสารต้องของใครของมัน แม้จะนอนโรงแรมเดียวกันก็ต้องทำเอกสารคนละชุด ระบุชื่อผู้เข้าพักในใบจองโรงแรมด้วย ใช้เวลาดำเนินการ 4-8 สัปดาห์ ถ้าหากมีธุระต้องเดินทาง เจ้าหน้าที่บอกว่าขอเล่มหนังสือเดินทางกลับไปก่อนได้ แล้วเอามาแปะวีซ่าวันหลัง (ของผมใช้เวลา 3 สัปดาห์) สิ่งที่ไม่มีในลิสต์แต่พอไปยื่นจริงจะเอาคือ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (อันนี้แย้งไปว่ามีทะเบียนบ้านแล้วจะเอาไปอีกทำไม เจ้าหน้าที่เลยบอกว่าไม่ต้องก็ได้??), สำเนาหนังสือเดินทางทุกหน้าที่ใช้แล้ว มีเล่มเก่าก็เอาด้วย ค่าวีซ่า 2,400+ค่าสื่อสาร 400 เป็น 2,800 จ่ายเงินสด ดาวน์โหลด เอกสารแนะนำการขอวีซ่าได้ที่นี่ TOURIST VISA

  • Travel,  Visa

    การขอวีซ่าอียิปต์ (Egypt Visa Application)

    ขอไม่ยากแต่เรื่องมากเล็กน้อย เอกสารที่ใช้ ใบคำขอวีซ่า (Download แบบฟอร์ม) ฟอร์มนี้ใช้ขอที่สถานทูตในกรุงเทพฯ ได้ อย่าไปเอาใบอื่นๆ ที่อยู่ตามเว็บบริษัททัวร์ที่มักจะเป็นใบสำหรับยื่นที่ Washington DC, London รูปถ่าย 2 นิ้ว 2 รูป พื้นหลังขาว ทากาวติดลงใบคำขอเลย 1 รูป ใบรับรองสถานะทางการเงินจากธนาคาร (เป็นใบที่สรุปฐานะทางการเงิน ยอดเงินฝากรวม ไม่ใช่รายการเดินบัญชีหรือสเตทเมนต์) ไม่สามารถใช้สำเนาสมุดคู่ฝากได้ ค่าธรรมเนียมประมาณ 100 บาท เอกสารรับรองการทำงาน ตั๋วเครื่องบิน ใบจองโรงแรม แผนการเดินทาง (อันนี้อยากใส่เข้าไปเอง) หนังสือเดินทางและสำเนาหน้าแรก 1 หน้า (อายุต้องเหลือไม่น้อยกว่า 6 เดือน) ที่สถานทูตไม่มีกาว ปากกาไว้บริการให้นำไปเองหรือทำให้เสร็จก่อนไปถึง ขั้นตอนการยื่นจนได้รับวีซ่า ไปที่ ชั้น 31 อาคารสรชัย ถนนเอกมัย ยื่นวีซ่าช่วงเช้า 9:30-12:00 ยังไม่ต้องจ่ายเงิน เจ้าหน้าที่จะให้สลิปรับเล่ม โดยปกติจะนัด 3 สัปดาห์ให้หลัง (ไม่เร็วเหมือนเมื่อก่อนแล้ว) ให้โทรสอบถามว่าวีซ่าได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลอียิปต์หรือไม่ ถ้าได้ก็ไปชำระเงิน 2100 บาท (ถ้าขอ Multiple 3000 บาท) ชำระเงินเสร็จ วันรุ่งขึ้นไปรับหนังสือเดินทางคืน 14:00-15:00 สรุปต้องมาสถานทูต 3 รอบ ถ้าไปช่วงวันจันทร์หรือวันศุกร์คนอาจจะเยอะ ในห้องจะมีเจ้าหน้าที่ชาวอียิปต์คอยสร้างความสับสนวุ่นวาย เจ้ากี้เจ้าการ จัดคิวโน้นแซงคิวนี้ทั้งๆ ที่บัตรคิวก็มี น่ารำคาญมาก เจ้าหน้าที่รับยื่นวีซ่าเป็นคนไทยใจดี มีปัญหาอะไรปรึกษาได้ โทร 027269831-3 แผนที่ จาก BTS เดินเอาก็ได้ไม่ไกล 500 เมตรเอง

  • Bhutan,  Life in Bhutan

    คู่มือเตรียมตัวไปปฏิบัติงานอาสาสมัคร FFT (TICA) ประเทศภูฏาน

    คู่มือเตรียมตัวไปปฏิบัติงานอาสาสมัคร FFT (TICA) ประเทศภูฏาน เกิดขึ้นหลังจากที่ผมไปปฏิบัติหน้าที่อาสาสมัครเพื่อนไทย Friend from Thailand (FFT) ของสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (TICA) ที่ประเทศภูฏานมาระยะหนึ่ง ก็มีความคิดที่จะบันทึกประสบการณ์ ข้อปัญหา ข้อควรระวังในการมาทำงานที่นี่ เนื่องจากผมเองก็ประสบปัญหาทั้งก่อนเดินทาง และระหว่างปฏิบัติงานค่อนข้างมากและทาง สพร. ก็ไม่ค่อยมีความพร้อมในการจัดการสักเท่าไร ข้อมูลที่จำเป็นก็ไม่ค่อยมีให้ จึงหวังว่าคู่มือนี้จะมีประโยชน์สำหรับอาสาสมัครหรือผู้ที่จะมาทำงานที่ภูฏานในยุคหลังๆ ได้อ่านเพื่อเป็นความรู้ และเตรียมตัวก่อนเดินทาง Download Handbook 2nd edition

  • Bhutan,  Life in Bhutan

    Khuru

    Khuru เป็นกีฬายอดนิยมอีกอย่างหนึ่งของภูฏานรองจากยิงธนู จะว่าไปน่าจะได้รับความนิยมมากว่าด้วยซ้ำเพราะเครื่องเล่นมีราคาถูกกว่าคันธนูหลายเท่าจึงแพร่หลายมากตั้งแต่ชนบทยันสังคมเมือง จนยันรวย วีธีการเล่นก็ไม่ยาก อันดับแรกต้องไปซื้อตัวลูกดอกมาก่อน ปกติจะขายกันแค่ตัวตุ้มถ่วงและเหล็กแหลม ต้องเอาไปขัดไส ติดหางเพิ่มเติมถึงจะใช้ได้ ลูกดอกของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันเพราะทำมือทุกอัน อันไหนดี อันไหนถนัด อันไหนส่ายไปส่ายมา ก็สุดแท้จะดัดแปลง เป้าทำจากไม้ขนาดเล็ก ทาสีขาว เหลือง เขียว แดง มีวงนอกวงใน ขอบคล้ายๆกับปาเป้าทั่วไป ผู้แข่งขันวันนี้มี ๒ ทีมจากวิทยาลัยและโรงเรียนประถม Kanglung แต่ละผู้เล่นก็ปลัดกันปาไปเรื่อยๆ ใครเข้าเป้าคะแนนก็ขึ้นและจะได้รับสิทธิติดผ้าแถบสี (ตามตำแหน่งที่เข้าเป้า) ตอนจบใครได้คะแนนเยอะสุดก็ชนะ กีฬานี้ทำให้ปวดแขนมาก พอเล่นไปสักครึ่งวันจะเห็นว่าผู้เล่นอิดโรย ปาแทบจะไม่เข้าเป้าเลย เป้าก็เล็กแสนเล็ก ห่างออกไปสัก ๕๐ เมตรน่าจะได้ เข้าเป้าทีก็ดีใจออกมาร้องรำทำเพลงตามแบบฉบับของที่นี่

  • Bhutan,  Life in Bhutan

    ตามล่าหาแก้ส

    เช้าที่สดใสวันหนึ่ง เราก็ทำภารกิจประจำวัน หุงข้าว ทำกับข้าวแต่ทว่าความซวยก็มาเยือนเมื่อถังแก้สว่างปล่าวจุดไม่ติด ถ้าเป็นที่ไทยปัญหานี้จะไม่มีอะไรน่าตกใจ ก็แค่ยกหูโทรศัพท์หาร้านแก้ส ไม่นานถังแก้สใหม่ก็จะมาเปลี่ยนถึงที่ แต่ที่นี่ก็คงจะไม่ง่ายอย่างงั้น แก้สถือว่าเป็นของหายากและมีจำนวนน้อย เวลาจะซื้อต้องขับรถไปถึงปั้มน้ำมัน (แห่งเดียว) ที่ทราชิกังโน่น และแน่นอนว่าคงจะกระเตงถังแก้สขึ้นรถแทกซี่ไปไม่ได้แน่ คงจะต้องพึ่งพาคนแถวนี้อีกแล้ว หลังจากเอากระทะไฟฟ้ามาเจียวไข่แก้ขัดเสร็จก็เข้าไปในสถาบันไปบอกท่านผอ. ว่าแก้สหมด คราวนี้ผอ. มาแปลกรีบกุลีกุจอโทรไปเช็คที่ปั้มให้แต่ก็ต้องผิดหวังเพราะของไม่มี (ไม่แปลกใจ) ของอาจจะมาอาทิตย์หน้า ก็เอาเป็นว่าอาทิตย์นี้ก็ใช้เตาไฟฟ้าไปก่อน อาทิตย์ถัดมา วันจันทร์ ได้ยินเสียงโครมครามด้านล่างเลยชะโงกหน้าไปดูก็พบว่าน้าหงอกบ้านข้างล่างขนถังแก้สใบใหม่มา ด้วยความดีใจวันพรุ่งนี้จะได้มีแก้สใช้สักที แต่ก็ต้องเศร้าเมื่อพบว่าของหมดไปตั้งแต่วันจันทร์แล้ว ซะงั้น อาทิตย์ต่อมามีคนมากดกริ่งเช้าวันจันทร์ ด้วยความงุนงงเปิดออกไปคุยก็เจอกับเชนโชเจ้าหน้าที่คุมโกดังมาบอกว่าอาทิตย์นี้ไม่มีแก้สอีกแล้ว เออเริ่มจะชินแล้วละ อาทิตย์ต่อมาอีก คาม่าคนขับรถขับรถไปทราชิกังวันจันทร์พร้อมกับถังแก้สจำนวนนึง ด้วยความเซ็งสุดขีดทั้งๆที่บอกไปแล้วว่าถ้าแก้สมาให้บอกด้วย และคำตอบก็คือโทษทีไม่รู้ว่าอยากซื้อแก้ส เออดี อาทิตย์ต่อมาก็ไปย้ำกับผอ. อีกว่าป่านนี้ยังไม่ได้แก้สเลย ผอ. ก็บอกไม่ต้องห่วงเขาก็อยากได้เหมือนกันของมาแล้วจะบอก อีก ๒ ๓ วันต่อมาผอ. ก็โทรมาบอกว่าแก้สมาแล้ว ให้รีบไปเลย เรารีบกลับบ้านไปขนถังแก้สลงมาขึ้นรถและก็บึ่งไปทราชิกังทันที รากฎว่าเรามาเร็วไปเลยต้องไปฆ่าเวลาด้วยการซื้อของที่ทราชิกังก่อน พอตอนใกล้ๆเที่ยงก็ไปที่ปั้มก็พบว่ารถบรรทุกแก้สมาแล้ว กำลังขนลง กว่าจะได้แก้สนี่มันยากลำบากเหลือหลาย แทบจะต้องมาเฝ้าปั้มกันเลยทีเดียว เมื่อปีที่แล้วมีเหตุการณ์แก้สขาดตลาด คนที่ต้องการแก้สต้องของโทรเช็คแล้วมานอนเฝ้ารอของที่ปั้มกันเลยทีเดียว การซื้อแก้สที่นี่ก็ยากลำบาก คนที่จะเป็นเจ้าของถังแก้สได้ต้องยื่นคำร้องขอซื้อถังแก้สแล้วจะได้สมุดบันทึกมาเล่มหนึ่งที่มีชื่อ ที่อยู่ รูปถ่ายพร้อมบันทึกการซื้อแก้สทุกๆครั้ง ถ้าไม่เอาสมุดเล่มนี้มาก็ซื้อไม่ได้ (แต่เมื่อปีที่แล้วเหมือนจะไม่มีระบบนี้) การสมัครก็ยากเย็นใช้เวลาเป็นเดือน (ตามสไตล์) ครอบครัวนึงจะได้ปกติ ๑ ถัง แต่บ้านส่วนใหญ่มักอยากได้ ๒ ถังเพื่อสำรอง การจะได้มาซึ่งถังที่ ๒ ต้องใช้กำลังภายในและเส้นสายพอสมควร ราคาแก้สตอนนี้อยู่ที่ ๕๐๕ งุลตรัม ถังแก้สที่ได้รอบนี้สภาพโทรมมาก บุบ สีที่ทาหายไปหมดเหลือแต่คราบสนิม คนที่นี่ชอบโยนถังแก้สไม่รู้เป็นอะไร ถังแก้สเต็มๆ แทนที่จะยกลงจากรถก็โยนจากกระบะลงมาเลย ไอ้เราก็กระโดดหนีเหยงๆ เลย ทำอะไรบ้าๆ ไม่คำนึงถึงความปลอดภัย เอาสะดวก สนุกเข้าไว้ ถังมันถึงได้บุบบู้บี้แบบนี้ แต่ก็ยังดีที่มันยังไม่ระเบิดใส่ใครตาย (ที่จริงน่าจะมีสักครั้งก็ดีจะได้เป็นกรณีตัวอย่าง) ในที่สุดหลังจากไม่มีแก้สใช้มาเดือนนิดๆ ความสะดวกสบายก็กลับมายังห้องครัวอีกครั้ง