USA

การหาบ้านเช่าในอเมริกา

การหาบ้านเช่าในอเมริกาไม่ใช่เรื่องง่าย และมีเงื่อนไขจุกจิกมาก โดยเฉพาะคนที่ไม่มีญาติหรือที่พักชั่วคราวที่ไปถึงแล้วจะเข้าพักได้ทันทีต้องเตรียมตัวให้ดีก่อนจะออกเดินทางมิเช่นนั้นอาจจะหาบ้านไม่ได้ กลายเป็นว่าต้องนอนโรงแรมหรือ AirBNB ระยะยาวซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งนี้สิ่งที่ต้องคำนึง และเตรียมตัวมีดังนี้

ขั้นแรก สำรวจบ้านตามเว็บไซต์ต่างๆ โดยเว็บโฆษณาบ้านที่ได้รับความนิยมส่วนมากก็จะมี Zillow Realtor Apartments หรือค้นหาใน Google ก็จะขึ้นมามากมายแล้ว ทีนี้ก็เริ่มกำหนดรายละเอียดซึ่งก็หลักๆ คือ

  • วงเงินที่จะจ่ายต่อเดือน ทั้งนี้ราคาที่ประกาศจะยังไม่รวมค่ายิบย่อยอื่นๆ อีกเช่น ภาษีท้องถิ่น ค่าเก็บขยะ ฯลฯ ซึ่งไม่สามารถประมาณการได้ถ้าไม่ถามผู้ให้เช่าหรือคนท้องถิ่น
  • ชนิดของบ้าน จำนวนห้องนอน อพาตเมนท์
  • ทำเล อันนี้สำคัญมาก โดยเฉพาะคนที่มีข้อจำกัด อาทิ ไม่ขับรถ ต้องอยู่ใกล้ป้ายรถเมล์ หรือคนที่มีลูกต้องคำนึงถึงโรงเรียนที่ให้บริการในพื้นที่ด้วยซึ่งจะส่งผลต่อราคาอย่างมาก บ้านที่อยู่ในเขตโรงเรียนดีมีชื่อเสียงคือแพงมาก
  • บ้านเช่าที่อเมริกาส่วนมากจะไม่มีเฟอร์นิเจอร์ให้ แบบ full furnished ก็พอมีแต่มักหาได้ยาก

เมื่อเลือกบ้านได้แล้วขั้นต่อไปก็ทำการติดต่อผู้ให้เช่าซึ่งส่วนมากจะเป็นบริษัทมากกว่าเจ้าของโดยตรง โดยสิ่งที่ควรจะสอบถามคือบ้านว่างพร้อมย้ายเข้าได้เมื่อไร (เพระบางทีเขาประกาศก่อนผู้เช่าเดิมย้ายออก) ที่ตั้งจริง ตำแหน่งห้องตรงไหน ชั้นอะไร (ถ้าได้ที่อยู่มาจะดีเพราะใช้ Google street view เข้าไปส่องดูสภาพแวดล้อมได้อยู่บ้าง) ค่าเช่าต่อเดือน ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ระยะเวลาสัญญา บางที่ Google Review จะมีคนเช่าก่อนๆ มาติชมด้วย เป็นประโยชน์ในการเลือกบ้าน

จากประสบการณ์การหาบ้านในเมืองมหาวิทยาลัยหากเป็นช่วงอื่นที่ไม่ใช่ก่อนเริ่มปีการศึกษาจะหายากมาก (อาจต้องหา sublet สัญญาต่อจากคนอื่น) และการสิ้นสุดสัญญามักจะเป็นช่วงจบปีการศึกษาเท่านั้น (ไม่ใช่ 1 ปี แบบที่อื่นๆ) และเมื่อเราแสดงความสนใจในบ้านและเริ่มถามคำถามลึกขึ้นทางบริษัทจะให้เราเสียเงินค่า Application Fee เลยซึ่งจะไม่คืนทุกกรณี ที่เจอมาส่วนใหญ่เก็บที่ 50-60$ และบางที่จะบังคับจ่ายเงินมัดจำบางส่วนด้วยเช่นที่เจอมาเก็บ 250$ แถมมี Credit Card Fee 15$ อีก ทั้งหมดนี้คือเป็นการจ่ายค่าดำเนินการพิจารณาการขอเช่าบ้านของเราไม่ได้แปลว่าเราได้มัดจำหรือจองบ้านแล้วแต่อย่างใด (หากสุดท้ายแล้วเราไม่ได้บ้านเนื่องจากขาดคุณสมบัติ มีคนขอเช่าเยอะและโพรไฟล์ดีกว่าเรา หรืออะไรก็ตามแต่จะได้คืนแค่ค่ามัดจำ) ซึ่งหากประวิงหรือเลี่ยงยังไม่จ่าย Application Fee นี้แล้วส่วนมากจะเริ่มไม่ตอบเมลแล้ว (ประมาณว่าอยากถามมากกว่านี้ก็จ่ายเงินมา)

เมื่อเราจ่ายเงินค่าใบสมัครเช่าบ้านแล้วก็ภาวนาอย่าให้มีคู่แข่งเยอะในช่วงนั้น ทางบริษัทก็จะมีเอกสาร มีฟอร์มให้กรอกมากมายซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ e-signature หมดแล้วสะดวกมากๆ สิ่งสำคัญที่ผู้ใช้เช่าจะตรวจสอบคือประวัติการเช่า/เครดิต/เงินเดือน/หน้าที่การงาน ของเรา ซึ่งเราเป็นคนต่างชาติไม่เคยมีประวัติที่อเมริกาจะเสียเปรียบมากๆ หากมีคู่แข่งปุ้บส่วนใหญ่ผู้ให้เช่าจะเลือกปล่อยกับคนที่เช็คประวัติได้ หรือมีประวัติดีกว่า ขั้นตอนนี้ถือว่าเครียดพอควรถ้ามีเงื่อนไขเวลาหรือตัวเลือกจำกัดมากๆ สำหรับกรณีนี้เราได้แจ้งบริษัทไปแล้วว่าไม่เคยอยู่อาศัยในอเมริกามาก่อน ไม่มีประวัติอะไรเลย ไม่มีใบรับรองเงินเดือน บัญชีธนาคาร ให้ทำอย่างไรซึ่งบริษัทก็แจ้งว่าขอ Job Offer Letter ที่ระบุตำแหน่ง ระยะสัญญา เงินเดือน และหนังสือค้ำประกันจากนายจ้างหรือเจ้านาย ซึ่งเราส่งไปแค่ Job Offer Letter เพราะไม่มีใครในสำนักงานอยากค้ำประกันให้เรา (ถ้ามีญาติที่อเมริกา สามารถให้เขาค้ำก็ได้) แต่ทางบริษัทพอใจเพราะตำแหน่งงานดี เงินเดือนสูงเลยผ่านในด่านนี้ หลังจากที่บริษัทพิจารณาคุณสมบัติผู้เช่าและจัดการเอกสารเสร็จก็จะแจ้งเราว่ารับเราเป็นผู้เช่าอย่างเป็นทางการแล้ว และจะนัดแนะวันที่จะเข้ามารับกุญแจ ชำระเงินส่วนที่ค้างอยู่ (ค่าเช่า 2 เดือนล่วงหน้า หักเงินที่มัดจำไว้ 250$)

ขั้นสุดท้ายเมื่อไปถึงก็ไปรับกุญแจ เซ็นเอกสารที่เกี่ยวข้อง ชำระเงินส่วนที่เหลือ ทั้งนี้คาดว่าบริษัทอื่นๆ ก็เหมือนกันคือจะไม่รับเงินสด จะต้องจ่ายผ่านบัตรเครดิต เดบิต (ซึ่งมีชาร์จค่าธรรมเนียม) หรือหักบัญชีธนาคาร หากถือเงินสดมาก็ต้องไปซื้อตั๋วแลกเงิน (Money Order) หรือแคชเชียร์เช็ค หรือวิธีอื่นๆที่บริษัทกำหนดมาจ่ายซึ่งก็มีค่าธรรมเนียมอีกเช่นกัน แต่กรณีของเราโชคดีหน่อยตรงที่ได้เปิดบัญชีธนาคารไว้แล้ววันก่อนจึงให้เขาสั่งตัดเงินผ่านบัญชี (ACH) ได้เลย ไม่เสียค่าธรรมเนียม และขั้นตอนสำคัญอีกอย่างคือการเปิดบัญชีผู้ใช้พลังงาน (ไฟฟ้า แก๊ส) ซึ่งแต่ละรัฐหรือแต่ละพื้นที่จะมีผู้ให้บริการแตกต่างกันไป รายละเอียดและวิธีขอเปิดบัญชีก็จะยุ่งยากต่างกันไป ความลำบากที่จะพบได้แน่ๆ คือทุกที่จะขอเลข SSN หรือเลขบัตรประจำตัว State ID ซึ่งคนที่เพิ่งมาอเมริกาใหม่ๆ จะไม่มีซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถเปิดบัญชีได้ทางเว็บไซต์หรือทางโทรศัพท์ ทำให้ต้องเดินทางไปเปิดที่สำนักงาน ซึ่งหากเปิดบัญชีไม่ทันวันย้ายเข้าบริษัทที่ให้เช่าบ้านอาจคิดค่าบริการเพิ่มเพราะเขาจะถูกเรียกเก็บค่าบริการไปก่อนค่อยมาตามเก็บกับเราอีกที จากที่ประสบมากับบริษัท DTE จะยอมเปิดบัญชีด้วยหมายเลขพาสปอร์ตได้ทางโทรศัพท์ซึ่งพนักงานบอกว่าอาจต้องมีการจ่ายเงินประกันด้วยเพราะเราไม่มีประวัติ/เครดิตมาก่อน แต่ในที่สุดก็ไม่ได้มีการเรียกเก็บเงินประกัน การเปิดบัญชีทางโทรศัพท์จะค่อนข้างยากเพราะต้องพูดสำเนียงให้ชัดเจนให้เขาฟังออก และที่น่าปวดหัวที่สุดคือเรื่องของชื่อนามสกุลเรา ถ้ายาวมากๆ รับรองทรมานทั้งเราทั้งพนักงาน บางครั้งถ้าพูดไม่ชัดเจนพอ ชื่อ นามสกุล อีเมลที่ใช้แจ้งหนี้ อาจผิด เลวร้ายสุดอาจเปิดบัญชีผิดบ้านก็เคยได้ยินมาแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าสามารถไปที่สำนักงานได้น่าจะง่ายกว่ามาก สำหรับน้ำประปากรณีของเราจ่ายกับบริษัทบ้านเช่าจึงไม่ยากอะไร

ท้ายสุดๆ ก็เหลือแต่ย้ายเข้า หาเฟอร์นิเจอร์ หากเป็นไปได้เช่ารถคนใหญ่ๆ หรือรถกระบะไว้จะสะดวกมากเวลาซื้อของใหญ่ (บางทีรถเช่าจากสนามบินอาจไม่มีรถกระบะให้เลือก) Ikea คือเพื่อนยากแม้ราคาจะแพงแต่มันสะดวกตรงที่เวลาขนมาจากร้านแพกเกจมันจะเล็กและใส่รถได้ง่าย บางครั้งก็แอบทึ่งว่าแพกเกจเล็กนิดเดียวพอประกอบออกมาแล้วได้เครื่องใช้ที่ใหญ่มาก ถ้าใครไม่มีญาติไม่มีเพื่อนบอกเลยว่าต้องถึกและเตรียมเหนื่อย ถ้างบน้อยลองดูตาม Craiglist หรือกลุ่มเฟสบุ๊คของฟรี ของมือสอง พวกนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายช่วงแรกได้มาก แต่เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่จะประกอบมาแล้วทำให้ชิ้นใหญ่ อาจต้องใช้รถกระบะขนเท่านั้นหรือถ้าพวกเครื่องมือมาถอดจะดีมาก รถกระบะอาจเช่าจาก U-hual Penske เป็นรายวันได้ไม่แพงมาก เมืองใหญ่ๆ มักมีร้านตัวแทนอยู่หลายที่

Leave a Reply