เรื่องพังๆ ของระบบไฟฟ้าในซาอุ
ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่นี่ก็ได้ศึกษามาเบื้องต้นว่าที่นี่ใช้ไฟ 220V 60Hz และใช้ปลั้กแบบอังกฤษ ก็เลยเตรียมอุปกรณ์และหัวแปลงมาอย่างดี พอมาถึงที่นี่ก็พบกับความหรรษาเพราะว่ามันมีระบบไฟที่เละเทะมาก คนที่นี่เล่าให้ฟังว่าเดิมทีที่นี่ใช้ไฟ 127V ซึ่งคิดว่าอเมริกามาวางรากฐานให้เพราะใช้ความถี่ 60Hz ตามสไตล์เมกัน แต่ดันใช้ปลั๊ก Schuko หัวกลมแบบยุโรปซึ่งดูๆ แล้วประเทศที่เคยเป็นของเนเธอแลนด์ เช่น Aruba, Netherlands Antilles ก็ใช้ไฟแบบนี้ก็เลยคิดว่าไม่ต่างจากไทยคือเอามันยำรวมกันเละไปหมด ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น อุปกรณ์ที่ใช้กำลังไฟฟ้าเยอะมีจำนวนมากขึ้นก็เลยเดินไฟระบบ Dual 127/220V โดยปลั๊กไฟและไฟส่องสว่างจะใช้ไฟ 127V และอุปกรณ์ที่กินไฟมากเช่น Heater, A/C และเตาไฟฟ้าต่างๆ จะใช้ไฟ 220V ซึ่งแน่นอนว่ามีหลายประเทศที่ใช้ระบบไฟแบบนี้เช่น ญี่ปุ่น อเมริกา แต่เขามีระบบระเบียบมากกว่าที่นี่ และเพราะความไร้ระบบระเบียบนี้ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ไฟช็อต เครื่องใช้ไฟฟ้าพังเพราะเสียบปลั๊กผิดรูกันมามากต่อมากแล้ว ในทีสุดเมื่อราวๆ 10 ปีก่อนรัฐบาลซาอุก็ได้ตัดสินใจยกเลิกระบบไฟ Dual 127/220V หันไปใช้ไฟ 220V 60Hz และใช้ปลั้กแบบอังกฤษให้เป็นมาตรฐานเดียวทั่วประเทศ ซึ่งมีระยะปรับปรุงประมาณ 25 ปี ปัจจุบันบ้านเรือน ออฟฟิตที่นี่ยังปรับปรุงระบบไฟไม่เสร็จและยังคงมีทั้ง 2 แรงดัน แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ๆ ที่ขายจะเป็น 220V 60Hz ปลั้กแบบอังกฤษหมดแล้ว แต่ไฟส่องสว่างยังมีทั้ง 127/220V อยู่สร้างความปวดหัวกันต่อไป
ในออฟฟิตของสถานทูตไทยที่นี่ไฟฟ้ายังเป็นระบบเดิมคือ 127V แต่เพิ่มเติมคือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่นี่หลากหลายมาก เอามาจากไทยก็มี มีทั้งปลั๊กขาแบน ขากลม ขาเหลี่ยมครบเลย เวลาจะเสียบจะใช้อะไรก็ต้องพลิกดูให้ดีๆ ว่ามันใช้ไฟเท่าไร พี่ที่นี่เล่าให้ฟังว่าล่อ PSU คอมพิวเตอร์พังไปตัวเพราะเผลอเอาไปเสียบปลั๊ก 220V ทีนี้มันมีอุปกรณ์หน้าตาแปลกๆ ที่ไม่ค่อยได้เเห็นกันเท่าไร 2 ชนิดได้แก่ Auto Transformer 127/220V ก็มีหน้าที่แปลงไฟ step up/down ได้หมด ซึ่งที่ไทยส่วนใหญ่จะมีแต่ step down เพราะคงไม่มีคนเอาไปเพิ่มไฟเป็น 440V
ต่อมาก็เป็น Stabilizer แบบ Dual Voltage ซึ่งที่เห็นเยอะๆ เป็นของญี่ปุ่น Nippon Keidenki Works ท่าทางที่นี่ไฟจะกระชาก/ตกบ่อย เลยต้องมี Stabilizer ใช้กัน ทีนี้มันก็สะดวกดีตรงที่มัน dual input/output 110/220V ได้เลยในตัวเดียว เสียบปลั๊ก 127V ไว้เสียบคอมพิวเตอร์ 110V เลเซอร์พริ้นเตอร์ 220V ก็จบในตัวเดียวสะดวกดี
ทีนี้มาที่บ้านพักก็บันเทิงเช่นกันเพราะมีทั้ง 127/220V โดยที่ปลั๊กจะระบุไว้ชัดเกือบทุกที่แต่ที่น่ารำคาญคือ Schuko ดันเป็นไฟ 127V ทั้งๆ ที่ควรจะเป็น 220V (เดิมทีประเทศนี้คงใช้ปลั๊กขากลมเป็นหลักมาก่อน) และปลั๊กลูกผสมขาแบน/กลม (เหมือนไทย) ดันเป็น 220V (ซึ่งขาแบนควรเป็น 110V) และที่สำคัญคือปลั๊กขาเหลี่ยมแบบอังกฤษที่เป็นมาตรฐานปัจจุบันมีแค่ 2 เต้าทั้งบ้าน และก็มีทั้งไฟ 127/220V ปวดกบาลมากๆ นี่ต้องไปซื้อปลั๊กพ่วงแบบขาเหลี่ยมมาแปลงเป็นขาแบน (NEMA5) ให้ทรมานใจอีก