• Travel,  Visa

    การขอวีซ่าเชงเกนเนเธอร์แลนด์ แบบยื่นตรงที่สถานทูต (The Netherlands Schengen Visa Application)

    โดยปกติแล้วการยื่นขอวีซ่าจะผ่านตัวแทนคือ VFS ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ค่อนข้างแพง (แต่ก็แลกกับความสะดวกเล็กน้อย) ถ้ายื่นตรงจะประหยัดกว่ามาก เดิมทีจะอนุญาตให้ยื่นตรงแค่วีซ่าระยะยาว (D) แต่เดี๋ยวนี้วีซ่าเชงเกนก็สามารถยื่นตรงได้เช่นกัน หลักการก็เหมือนขอวีซ่าเชงเกนทั่วๆ ไป โดยแค่กดนัดหมายวันยื่นวีซ่าที่เว็บนี้ ซึ่งเท่าที่สังเกตุดูในแต่ละวันจะรับจำนวนน้อยมากและมีแค่ช่วงบ่ายเท่านั้น เอกสารที่ใช้ก็ตามที่ลิสต์เอาไว้ในเว็บของ VFS แบบฟอร์มที่กรอกและเซ็นชื่อ รูปถ่ายพื้นหลังขาว 1 รูป แนบไปต่างหากไม่ต้องทากาวลงบนใบสมัคร แผนการท่องเที่ยว ใบจองหรือตั๋วเครื่องบิน ใบจองโรงแรม กรมธรรม์เดินทางไปต่างประเทศ จดหมายรับรองการทำงาน หลักฐานทางการเงินย้อนหลัง 3 เดือน จะใช้สำเนาบุ๊คแบงค์ (ชื่อบัญชีต้องเป็นภาษาอังกฤษ) หรือสเตทเมนต์ที่ปริ้นจากอินเตอร์เน็ตแบงค์กิ้งก็ได้ (ภาษาอังกฤษ) ใครอยากเสียเงินไปขอหนังสือรับรองหรือสเตทเมนต์จากธนาคารก็ได้ตามสะดวก สำเนาหน้าหนังสือเดินทาง 2 ฉบับ จะใส่สำเนาเชงเก้นวีซ่าเก่าๆ ลงไปด้วยก็ได้ แต่ไม่มีก็ไม่เป็นไร เอกสารเชคลิสต์ ปริ้นแล้วติ้กถูกตามเอกสารที่มี เอกสารอื่นๆ สำเนานั่นนู่นนี่ บัตรประชาชนเอย ทะเบียนบ้านเอยไม่ต้องขนไปให้เกะกะ อย่าไปเชื่อกระทู้พันทิปมาก ถึงวันนัดก็เดินทางไปสถานทูตที่ซอยต้นสน ใช้เวลาไม่นานก็ยื่นเสร็จ ค่าวีซ่า 60EUR แปลงเป็นเงินบาทวันต่อวัน จ่ายเงินสดหรือบัตรเครดิต (ไม่ชาร์จ แต่ตัดเป็นเงินยูโร) ก็ได้ ถ้าต้องการให้ส่งไปรษณีย์เพิ่มอีก 70 บาท ถูกและสะดวกมากๆ ทั้งหมดก็จ่ายไป 2350 บาทเท่านั้น ถูกกว่า VFS เยอะมาก (ราคาวันที่ 18 ก.ย. 2561) ยื่นไปวันอังคาร ได้รับเมล (ไม่ต้องไปเสียค่าโง่ SMS ให้ VFS) แจ้งว่าหนังสือเดินทางมาถึงสถานทูตที่กรุงเทพแล้วในวันจันทร์ถัดไปและได้รับ EMS ในวันรุ่งขึ้น รวมเวลาแค่ 7 วันเท่านั้น ถ้าใครเครดิตดีก็ได้วีซ่ายาวๆ ถึงก่อนหมดอายุหนังสือเดินทาง 3 เดือน (เต็มที่ 4 ปี 9 เดือน)

  • Bhutan,  Life in Bhutan

    คู่มือเตรียมตัวไปปฏิบัติงานอาสาสมัคร FFT (TICA) ประเทศภูฏาน

    คู่มือเตรียมตัวไปปฏิบัติงานอาสาสมัคร FFT (TICA) ประเทศภูฏาน เกิดขึ้นหลังจากที่ผมไปปฏิบัติหน้าที่อาสาสมัครเพื่อนไทย Friend from Thailand (FFT) ของสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (TICA) ที่ประเทศภูฏานมาระยะหนึ่ง ก็มีความคิดที่จะบันทึกประสบการณ์ ข้อปัญหา ข้อควรระวังในการมาทำงานที่นี่ เนื่องจากผมเองก็ประสบปัญหาทั้งก่อนเดินทาง และระหว่างปฏิบัติงานค่อนข้างมากและทาง สพร. ก็ไม่ค่อยมีความพร้อมในการจัดการสักเท่าไร ข้อมูลที่จำเป็นก็ไม่ค่อยมีให้ จึงหวังว่าคู่มือนี้จะมีประโยชน์สำหรับอาสาสมัครหรือผู้ที่จะมาทำงานที่ภูฏานในยุคหลังๆ ได้อ่านเพื่อเป็นความรู้ และเตรียมตัวก่อนเดินทาง Download Handbook 2nd edition

  • Bhutan,  Life in Bhutan,  Travel in Bhutan

    Festival at Bumthang

    การเดินทางจากทราชิกังไปทิมพูต้องแวะค้างคืนที่บุมทัง เรามาได้โอกาสกำลังเหมาะเขากำลังจัดเทศกาลถึง ๒ เทศกาลพร้อมกันคือ Jambay Lhakhang Drup, Prakhar Duchhoed ซึ่งจัดซ้อนกัน เวลาแต่ละปีจะเปลี่ยนไปเพราะเค้าดูตามปฏิทินจันทรคติ Jambay Lhakhang Drup จัดขึ้นที่วัดจัมเบ มีอะไรน่าสนใจอยู่บ้างคือพิธีตอนกลางคืนประมานสัก ๒ ทุ่มคือ Mewang เป็นพิธีเต้นรอบกองไฟเพื่ออวยพรให้หญิงที่มีลูกยากได้มีลูกตามต้องการ (เราไปไม่ทัน) และสุดท้ายคือ Tercham หรือ Naked dance ที่เลื่องชือ ที่เรามาที่นี่ก็เพราะอยากรู้ว่ามันจะเจ๋งยังไงนี่แหละ เรามาถึงงานตอน ๓ ทุ่ม เจอกลุ่มคนญี่ปุ่นที่เป็นอาสาสมัครมากพอควร ก็ชวนกันคุยเล่นฆ่าเวลาไปเรื่อยๆ เพื่อรอดู Naked Dance ซึ่งจะเริ่มเที่ยงคืน สักพักก็ทนหนาวไม่ไหวเลยไปหาอะไรดื่มที่เพิงด้านนอกเหมือนงานวัดไทยหรือ Yatai ที่ญี่ปุ่น พอได้สักเกือบเที่ยงคืนก็กลับมายืนจองที่ดู อากาศหนาวมากที่สุด ปากสั่นมือสั่นกันทีเดียว (เสื้อหนาวมีน้อยด้วย) แต่ยืนเบียดๆ กันก็ไม่หนาวมาก จนกระทั่งเที่ยวคืนพิธีอันไม่น่าตื่นตาตื่นใจก็เริ่มขึ้น มีคนแก้ผ้า (ผู้ชายนะ) พันหน้าตาอย่างดีออกมากระโดดโลดเต้นไปเรื่อยๆ สักพักก็ทยอยออกมามากขึ้นมีทั้งอันเล็กอันใหญ่ ปนๆ กันไป การเต้นดูไม่มีสาระเลย กระโดดไปกระโดดมา บางที่ก็ไปแกล้งคนดูโดยการกระโดดไปตรงหน้าเค้าซะงั้น สักพักนักเต้นก็หนาวเลยไปยืนกุ้มเป้าผิงไฟเต้นไม่ออก มีอยู่จังหวะหนึ่งลมพัดแรงพาสะเก็ดไฟลอยละลิ่วไปปะทะตามตัวนักแสดง กระโดดหลบกันเหยงๆ เป็นที่น่าเวทนา เราทนดูได้สัก ๕ นาทีก็เผ่นเพราะรู้สึกว่าไร้สาระและก็หนาวมากๆ :(ไม่มีรูปเพราะเค้าไม่ให้ถ่าย ถึงถ่ายได้ก็ไม่อยากถ่าย) วันรุ่งขึ้นอากาศก็ดีมาก อันดับแรกต้องไปหาซื้อตั๋วรถบัสไปทิมพูก่อนที่จะหมด เดินหาท่ารถอยู่นานก็ไม่มีจนต้องไปถามตำรวจเค้าเลยชี้ไปที่ร้านขายของชำซึ่งมีป้ายบริษัทรถเล็กๆปิดอยู่เลยถึงบางอ้อ ที่นี่ไม่มีท่ารถแต่รถแต่ละบริษัทจะจอดที่ร้านขายตั๋วของตัวเอง จากนั้นเราก็ไปเดินเล่นชมวิวไปตามจุดต่างๆ ทั้งภูเขา Jakar Dzong และ Wangdue Choling Palace มีใบไม้เหลืองแดงบ้างสร้างบรรยากาศน่ารื่นรมณ์ เสร็จแล้วก็ไปที่วัดจัมเบเหมือนเดิมเพื่อนไปดูการแสดงแบบปรกติซึ่งได้ดู ๒ ชุดคือ ระบำหน้ากากบรรยายเกี่ยวกับธรรมมะบทต่างๆ และแสดงตลกคลายเครียดซึ่งหลังๆ ดูแล้วเครียดเพราะไม่รู้มันทำอะไร คนดูก็เซ็งๆ ลุกหนีหายไปพอควร พอพระอาทิตย์ตกดินก็กลับที่พักเพราะต้องออกแต่เช้า

  • Bhutan,  Life in Bhutan,  Travel in Bhutan

    Trip to Bumthang

    เนื่องจากได้รับเชิญไปช่วยงานวันชาติไทยที่จะจัดขึ้นที่เมืองหลวงทิมพูในวันที่ ๑๘ พ.ย. ที่จะถึงนี้ เราจึงต้องเดินทางที่ไม่ค่อยปลื้มสักเท่าไรไปทิมพู แม้ว่าระยะทางจะประมาณ ๕๕๐ กม. แต่ต้องใช้เวลาบนรถบัสถึง ๒ วันเต็ม ช่วงนี้เป็นช่วงเข้าฤดูหนาว การเดินทางจึงยากลำบากขึ้นทั้งสภาพอากาศ ถนนที่ลื่นหรือมีดินถล่ม เราออกเดินทางจากที่พักตอนตี ๕ เพื่อไปขึ้นรถที่ทราชิกัง อากาศตอนเช้าหนาวมากทีเดียว สภาพรถที่เดินทางจัดว่าดีแต่คนที่เดินทางไปด้วยนั้นขนหอบของสารพัดชนิดที่ไม่มีพื้นที่ว่างที่จะเดินกันเลยทีเดียว แถวเก้าอี้เสริมก็ถูกจองจนเต็ม สภาพไม่ต่างจากประกระป๋องหมดอายุสักเท่าไร เริ่มออกเดินทางคนขับรถของเราก็ขากเสรดตลอดเวลา ข้างหลังมีคุณยายก็เมารถอ้วก ขากเสรดไปตลอดอีกเช่นกัน สร้างความรื่นเริงบันเทิงใจอย่างมาก รถแวะที่หมู่บ้าน Yadi เพื่อกินข้าวเช้าก่อนวิ่งยาวจนถึงบ่าย ๒ จึงแวะกินข้าว ระหว่างทางเมื่อผ่านช่องเขา Trumshing La ก็พบว่ามีหิมะตกแล้วเมื่อไม่นานมานี้ รถเราเลยต้องวิ่งช้าลงมากเพราะอันตรายจากน้ำแข็งบนพื้น ระหว่างทางมีบางช่วงมีใบไม้เปลี่ยนสีเป็นเหลือง (พวกสน) แม้จะไม่สวยเหมือนญี่ปุ่นแต่ก้ทำให้เพลินตาดี รถมาถึงบุมทังตอนเกือบทุ่มครึ่ง เราก็ลากกระเป๋าเข้าโรงแรมเดิม Kaila Guesthouse

  • Bhutan,  Life in Bhutan,  Travel in Bhutan

    Mini Hiking

    วันที่ 14 ก็เป็นวัดหยุดเฉลิมแลองพิธีอภิเสกสมรสอีกหนึ่งวันซึ่งในวันนี้คิงและควีนก็จะเดินทางกลับทิมพูและจะมีการเฉลิมฉลองเล็กที่ทาชิโชซอง ก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้าเพราะเราไม่ได้ไปร่วมงานอีกแล้ว (ที่จริงอยู่เมืองไทยไปทิมพูง่ายกว่าอยู่ทาชิกังอีกนะครับ นั่งรถตั้งสองวันกว่าจะถึงแม้ว่าสนามบินในประเทศจะพร้อมแล้วก็ดันเลื่อนกำหนดบินปฐมฤกษ์ไปเสียฉิบ) ในเมื่ออยู่ว่างๆ ก็เลยตบปากรับคำว่าจะไปปีเขากับพักรักเรียนช่างไฟฟ้าซึ่งมีประมานสองกลุ่ม กลุ่มละสิบคนเห็นจะได้ผู้ชายก็แต่งโกะผู้หญิงก็แต่งคิร่ามาอย่างดีเห็นแล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่าสภาพนี้จะปีนถึงยอดเขาไหวมั้ยเนี่ย แต่ที่ไหนได้พอเริ่มปีนเท่านั้นแหละไอ้คนที่ว่าจะไปไม่รอดกลับกลายเป็นตัวเองไปเสียฉิบเพราะขาดการออกกำลังกายมานาน ส่วนสาวๆ นุ่งผ้าถุงเดินฉับๆ นำไปหลายทุ่งแล้ว ระหว่างทางก็ผ่านทุ่งนา ทุ่งข้าวโพดและบ้านชาวบ้านเป็นระยะๆ เจอต้นไม้ป่า ไม้ปลูกพวกนักเรียนก็ไปเด็ดมากินอย่างเอร็ดอร่อย มีทั้งส้มดิบ (สุกๆก็มีมันไม่เด็ด?) สาลีเปรี้ยว สาลี่ขม ระหว่างทางก็ไปขอซื้อแตงกวา (คนที่นี่กินแตงกวาเป็นผลไม้ ของว่าง ลูกขนาดฟักบ้านเรา) มากินเล่นหนึ่งลูกซึ่งชาวบ้านก็ใจดีให้มาฟรีๆ หลังจากนั้นก็ปีนเขาต่อมาอีกพักใหญ่ๆ ก็มาถึงจุดหมายซึ่งเป็นวัดที่ไม่ทราบชื่อ (ถามแล้ว ลืมแล้ว) มีรูปปี้นพระขนาดใหญ่อยู่ พอมาถึงพระลามะที่เป็นเจ้าอาวาสเห็นพวกเราขึ้นมาก็เลยเรียกให้เข้าไปพักในห้องรับแขกพร้อมเสริฟชานม (งาจะ) ร้อนๆ พร้อมข้าวโหดแข็งเป้ก (เต็งม่า) หลังพักเหนื่อยเสร็จก็เข้าไปไหว้พระในโบถส์ โดยปกติวัดทั่วไปใหญ่ๆ จะไม่ให้ถ่ายรูปแต่ที่นี่อยู่บ้านนอกมากเลยไม่มีข้อห้ามใดๆ ลักษณะภายในก็คล้ายกับวัดไทย มีพระประธานมีจิตรกรรมฝาผนังมีการรดน้ำมนต์ด้วย หลังจากนั้นพระท่านก็ชวนให้อยู่กินข้าวกลางวันก่อนซึ่งกว่าจะได้กินก็รอจนไส้กิ่วเกือบบ่ายสอง รีบกินแล้วก็เดินต่อไปอีกวัดหนึ่งซึ่งมีหินพิเศษๆ (นักเรียนเค้าว่ามางั้น) การเดินรอบนี้ไม่สบายตัวเท่าไรเพราะโดนยัดเยียดข้าวมาเยอะมาก เดินไปจุกไปเลี่ยนไปเพราะกับข้าวมีชีสเปรี้ยว มันฝรั่งผัด ซุปผักขมและผัดมันหมูซึ่งสยองมาก มีแต่มันล้วนๆ ทนกินไปสามชิ้นเพราะนักเรียนตักมาให้ (ถือเป็นของดีของอร่อย) เดินไม่นานมากก็ถึงยอดเขาซึ่งมีวัดเล็กๆแต่บรรยากาศดีมาก สักพักนักเรียนก็ไปเชิญลามะผู้ดูแลวัดมาอธิบายถึงหินต่างๆ ที่อยู่รอบวัดว่ามีความหมายอะไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าเกิดจากฤทธิ์ของกูรูรินโปเชแต่ที่แปลกสุดนี่มีส่วนของ “โยนีพระโพธิสัตว์” ด้วยเล่นเอางงไปเลยเหมือนกันช่างจินตนาการคัดสรรดีแท้ เมื่อเสร็จกิจก็เริ่มเดินลงเขาแต่พวกนักเรียนเริ่มออกลายแวะบ้านชาวบ้านหาซื้อเหล้าพื้นบ้าน “อะระ” กันไปตลอดทาง โดยปกตินักเรียนห้ามดื่มเหล้ากันอยู่แล้วพอได้ออกมาข้างนอกก็ถวิลหาเหล้ากันใหญ่ เราไปเจอบ้านหนึ่งซึ่งก็เอาเหล้ามาต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี แม้ว่าเรายืนยันจะจ่ายเงินค่าเหล้าแต่เจ้าของบ้านก็ไม่เอาเงิน ยื้อกันไปมาผลออกมาจ่ายไม่จ่ายก็ไม่ทราบแต่ก็ได้สัมผัสน้ำใจคนที่นี่ ขาลงเขารอบสุดท้ายนี่ไม่อยากพูดถึงคนนำทางดันไม่ชินทางพาหลงซะงั้น มืดก็มืดมองทางไม่เห็นลื่นล้มกันเจ็บตัว พวกที่กินเหล้าเมาดันลงไปถึงพื้นเรียบร้อยแล้ว กว่าจะหากันเจอพากันลงมาข้างล่างได้นี่ปั่นป่วนไปหมด เหนื่อยมากๆ กลับถึงห้องอาบน้ำนอนเลย